หมอออนไลน์: ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) การบาดเจ็บที่บริเวณคอหรือหลัง อาจทำให้ประสาทไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นเหตุให้เกิดอาการอัมพาตของแขนขาทั้ง 4 ข้าง (quadriplegia) หรือขา 2 ข้าง (paraplegia) ส่วนใหญ่พบเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร และการตกจากที่สูง มักพบในผู้ชายอายุ 15-35 ปี
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุร้ายแรง ได้แก่ รถชน รถคว่ำ ตกจากที่สูง ถูกของหนักหล่นทับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกยิง ถูกแทงเข้าไขสันหลัง ทำให้ประสาทไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือน ฟกช้ำ เลือดออกหรือฉีกขาด ทำให้เกิดอาการอัมพาตของแขนขา 2 ข้างทันที
อาการ
ถ้าบาดเจ็บตรงระดับเอว ขาทั้ง 2 ข้างมักจะชา กระดุกกระดิกไม่ได้ ถ่ายปัสสาวะและอุจจาระเองไม่ได้ อวัยวะเพศทำงานไม่ได้ เช่น องคชาตไม่แข็งตัว
ถ้าบาดเจ็บตรงระดับคอ จะมีอาการอัมพาตของแขนทั้ง 2 ข้างร่วมกับขาทั้ง 2 ข้าง และถ้ากระทบกระเทือนถูกส่วนที่ควบคุมการหายใจ ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้ และถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีความรู้สึกตัวดีเหมือนคนปกติ
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตนาน ๆ อาจมีแผลกดทับ (bed sores) หรืออาจเป็นโรคติดเชื้อ (เช่น ปอดอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ) ได้ง่าย
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งจะตรวจพบขา 2 ข้าง หรือแขนขาทั้ง 4 ข้างเป็นอัมพาตและชา (ไม่รู้สึกเจ็บเวลาถูกเข็มจิ้ม)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์กระดูกสันหลัง ถ่ายภาพไขสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ถ้ากินอาหารไม่ได้ ให้น้ำเกลือ หรือให้อาหารทางสายยางหรือทางหลอดเลือดดำ, ถ้าหายใจไม่ได้ ใช้เครื่องช่วยหายใจ, ถ้าปัสสาวะไม่ได้ ใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
แพทย์จะให้สเตียรอยด์ฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อลดอาการบวม ช่วยให้ฟื้นตัวดีขึ้น ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องให้ภายใน 8 ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ และให้ติดต่อกันนาน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ จะทำการรักษาโดยใช้น้ำหนักดึงถ่วง (traction) ให้ข้อกระดูกที่เคลื่อนเข้าที่ หรือป้องกันไม่ให้ข้อกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือกดทับไขสันหลัง บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดสันหลัง เพื่อแก้ไขความผิดปกติและทำการเชื่อมต่อข้อกระดูกสันหลัง
ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลอยู่นาน หลังจากนั้นแพทย์จะทำการฟื้นฟูสภาพด้วยกายภาพบำบัด และใช้อุปกรณ์หรือรถเข็นช่วยในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บไม่มาก ก็มีโอกาสฟื้นคืนความแข็งแรงได้ โดยสังเกตว่า ถ้าผู้ป่วยสามารถขยับแขนขาและมีความรู้สึกเจ็บกลับคืนมาภายใน 1 สัปดาห์ก็อาจมีทางหายได้
แต่ถ้าประสาทไขสันหลังถูกทำลาย อาการอัมพาตก็มักจะเป็นอย่างถาวร โดยที่อาการจะไม่ดีขึ้นเลยภายหลังบาดเจ็บ 6 เดือนไปแล้ว
ในรายที่มีการบาดเจ็บตรงคอ ซึ่งมีอาการอัมพาตหมดทั้งแขนขา 4 ข้าง และไม่สามารถหายใจได้เอง หากเป็นอัมพาตอย่างถาวร ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประทังชีวิต ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง และมักเสียชีวิตด้วยภาวะติดเชื้อ (เช่น ปอดอักเสบ) แทรกซ้อน
การดูแลตนเอง
หากได้รับบาดเจ็บรุนแรงตรงบริเวณคอหรือหลัง ควรทำการปฐมพยาบาลและรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
เมื่อได้รับการรักษาจนสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
กินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ฝึกทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์/นักกายภาพบำบัด
ในกรณีที่นอนติดเตียง ควรใช้ที่นอนที่ลดแรงกดทับ (เช่น ที่นอนน้ำ ที่นอนลม) และผู้ดูแลควรทำการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ
ระมัดระวังในการป้อนอาหารแก่ผู้ป่วย อย่าให้สำลัก
ถ้ามีสายสวนปัสสาวะ หรือสายป้อนอาหาร (ที่ใส่ผ่านจมูกเข้าไปที่กระเพาะอาหาร) ควรดูแลให้สะอาดปลอดภัยตามตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีไข้สูง หนาวสั่น ท้องเดิน หรืออาเจียน
ปวดศีรษะรุนแรง สับสน ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือหายใจหอบหรือลำบาก
กินอาหาร หรือดื่มน้ำได้น้อย
มีแผลกดทับเกิดขึ้น
ยาหายหรือขาดยา
มีอาการสงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม เหนื่อยหอบ หรือหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
มีความวิตกกังวล
การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่คอและหลัง
1. ถ้าผู้ป่วยหายใจไม่ได้เนื่องจากไขสันหลังส่วนคอได้รับบาดเจ็บ ให้ทำการผายปอดด้วยการเป่าปากจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
2. ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ควรกระทำดังนี้
ห้ามยก แบก หรือหามผู้ป่วยโดยตรง อาจทำให้ไขสันหลังได้รับอันตรายมากยิ่งขึ้น
พยายามให้ผู้ป่วยนอนราบ ให้ศีรษะ คอ และลำตัว ตั้งอยู่ในแนวตรงกันเสมอ ถ้าจำเป็นต้องขยับตัวผู้ป่วยให้ใช้ผู้ช่วยอย่างน้อย 3 คน ขยับศีรษะ คอ ลำตัวไปพร้อม ๆ กัน โดยพยายามให้ทุกส่วนอยู่ในแนวที่ตรงกัน (อย่าให้บิดเบี้ยว)
เคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายบนแผ่นกระดานแข็ง ๆ (เช่น โต๊ะ บานประตู) พันตัวผู้ป่วยไว้กับแผ่นกระดาน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ป่วยพลิกตัว
ถ้าสงสัยกระดูกต้นคอหัก ควรใช้กระดาษแข็ง หนังสือพิมพ์ หรือผ้าพับม้วนเป็นทบแล้วสอดเข้าใต้คอผู้ป่วย ทำเป็นปลอกคอใส่ไว้ เพื่อป้องกันมิให้คอขยับเขยื้อนเกิดอันตรายได้ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยให้นอนหงายบนแผ่นกระดานแข็ง และวางถุงทรายหรืออิฐขนาบระหว่างคอผู้ป่วยเพื่อมิให้ผู้ป่วยเอี้ยวหรือบิดคอ
การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บที่สำคัญก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจราจร และการตกจากที่สูง
ข้อแนะนำ
1. เมื่อพบผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บตรงบริเวณคอหรือหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงสัยอาจมีกระดูกคอหรือกระดูกหลังหัก หรือไขสันหลังได้รับการกระทบกระเทือน ควรระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันมิให้ไขสันหลังได้รับอันตรายมากขึ้น
2. ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ มักได้รับการรักษาจนปลอดภัย แต่อาจมีความพิการ เดินไม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยมักมีความรู้สึกท้อแท้ ซึมเศร้า ควรให้การดูแลปัญหาด้านจิตใจควบคู่กับด้านร่างกายพร้อม ๆ กันไป หาทางปลอบขวัญและให้กำลังใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พบปะแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้ป่วยแบบเดียวกัน (กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน) เพื่อให้การช่วยเหลือและส่งเสริมกำลังใจซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังมีสติปัญญา และมือ 2 ข้างเป็นปกติดี สามารถนั่งรถเข็นหรือขับรถเดินทางไปไหนมาไหน ทำงานด้วยมือ 2 ข้าง มีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีได้