เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่กำลังเข้ามาอ่านบนความนี้กำลังมองหาช่องทางการทำตลาดออนไลน์รูปแบบใหม่ ๆ และหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นรูปแบบการทำการตลาดออนไลน์ที่เรียกว่า Search Engine Marketing หรือ SEM ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกหันมาใส่ใจ
การทำเว็บไซต์ของตัวเองมากขึ้น
ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างความน่าเชื่อถือและมีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ แต่เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านเครื่องมือค้นหาหรือ Search Engine ต่าง ๆ อย่างแม่นยำเพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าโดยไม่ผ่านตัวกลางแพลตฟอร์มใด ๆ ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงข้อมูลของงกลุ่มลูกค้าได้อย่างแท้จริง และนำไปปรับใช้เพื่อวางแผนการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในบทความนี้ นอกจากเราจะได้ทำความรู้จักว่า SEM คืออะไร อย่างถูกต้องแล้ว เราจะมาแชร์ไอเดียการทำ SEM เพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
SEM คืออะไร
Search Engine Marketing หรือ SEM คือ การทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา หรือ Search Engine ต่าง ๆ เช่น Google, Yahoo, Bing, etc. เพื่อให้เว็บไซต์ติดอยู่บนหน้าการค้นหาอันดับต้น ๆ และอยู่ในหน้าแรก ๆ ผ่านการ “ซื้อโฆษณา” ด้วยวิธีการประมูลคำค้นหาบนเครื่องมือโฆษณาของ Search Engine นั้น ๆ
ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชายที่ต้องการทำ SEM เพื่อให้เว็บไซต์ของเราแสดงผลอยู่อันดับต้น ๆ หลังจากมีคนค้นหาคำว่า “เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย” ผ่าน Google เราจำเป็นต้องซื้อโฆษณาโดยการประมูลแข่งขันคำค้นหา “เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย” ผ่านเครื่องมือ Google Ads กับคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ เพื่อให้เว็บไซต์ของเราแสดงอยู่ในตำแหน่งการค้นหาที่ดีที่สุด เป็นต้น หมายความว่าการทำ SEM จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่เราต้องการเจอเว็บไซต์ของเราเป็นอันดับแรก ๆ หลังการค้นหานั่นเองน
พอมาถึงตรงนี้เริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมครับว่า ที่เราค้นหาแล้วเจอเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมายทั้งหมดจะต้องเสียเงินโฆษณาหมดเลยใช่ไหม คำตอบคือ “ไม่ใช่ครับ” เราสามารถทำให้เว็บไซต์ของเราติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการค้นหาได้ผ่านการทำ SEO หรือ Search Engine Opimization คือ การทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาที่ “ไม่เสียค่าโฆษณา” แต่จะอาศัยเทคนิคอื่น ๆ เช่น การใช้คีย์เวิร์ด การปรับรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อให้ระบบ Search Engine มองว่าสิ่งที่เรานำเสนอมีความน่าเชื่อถือและตรงตามความต้องการของผู้ค้นหาผ่านเกณฑ์การประเมินต่าง ๆ ที่ Search Engine กำหนดซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและระยะเวลาอย่างมากในการที่ให้ระบบ Google เรียนรู้และประเมินเว็บไซต์ของเราให้แสดงผลในอันดับต้น ๆ นั่นเอง
หลักการทำงานของ Search Engine และปัจจัยที่มีผลต่อการทำ SEM
หลังจากที่เราเข้าใจความหมายของคำว่า SEM คืออะไรแล้วนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มลงมือการทำ SEM กันอย่างจริงจังเราต้องการเข้าใจหลักการทำงานของเครื่องมือค้นหาหรือ Search Engine ว่ามีหลักการทำงานอย่างไร แน่นอนว่าเครื่องมือค้นหาไม่ว่าจะเป็น Google, Yahoo, Bing หรือเครื่องมืออื่น ๆ ต่างพยายามนำเสนอผลลัพธ์การค้นหาที่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุดและจัดอันดับสิ่งที่เกี่ยวข้องมากที่สุดไว้อันดับต้น ๆ โดยระบบจะทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เว็บไซต์ในส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดอันดับผลลัพธ์ในการแสดงผลผ่านการนำเสนอสิ่งที่สอดคล้องกับผู้ค้นหาเป็นอันดับแรก
ซึ่งการทำ SEM เองหากต้องการให้เว็บไซต์ของเราติดอันดับต้น ๆ นั้นไม่ใช่เพียงการประมูลแข่งขันคำค้นหาที่เราต้องการในราคาสูง ๆ แล้วจะแสดงผลลัพธ์หรือติดอันดับทุกครั้ง ยังมีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการแสดงผลและอันดับของเว็บไซต์โดยเฉพาะคุณภาพของเว็บไซต์ โดยมีหลักการจัดอันดับคล้าย ๆ กับที่อธิบายไปข้างต้น กล่าวคือ ยิ่งเนื้อหาบนเว็บไซต์ของเราเกี่ยวข้องกับคำค้นหาที่เราประมูลแข่งขันมากเท่าไหร่ คะแนนคุณภาพเว็บไซต์ก็จะสูงเช่นกันและส่งผลให้โอกาสที่เว็บไซต์ของเราติดในอันดับต้น ๆ ของการค้นหาอีกด้วย ดังนั้นการทำ SEM นอกจากเราจะต้องประมูลแข่งขันคำค้นหาที่เราต้องการแล้ว ยังต้องจัดทำเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับคำค้นหาเพื่อให้ระบบมองว่าสิ่งที่เรานำเสนอตรงตามความต้องการของผู้ที่กำลังค้นหาอยู่นั่นเอง
เริ่มต้นการทำ SEM บน Google ง่าย ๆ 3 ขั้นตอน
เมื่อเราเข้าใจหลักการแสดงผลลัพธ์การค้นหาและการจัดอันดับเบื้องต้น รวมถึงวิธีการแสดงผลของโฆษณาตามคำค้นหาแล้วนั้นจะเห็นว่า องค์ประกอบหลัก ๆ ในการเริ่มต้นการทำ SEM ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ คำค้นหาที่ต้องการประมูลแข่งขันและคุณภาพของเว็บไซต์โดยเฉพาะเนื้อหาที่นำเสนอให้สอดคล้องกับคำค้นหานั้น ๆ ซึ่งคำถามต่อมาที่จะเกิดขึ้นคือ “เราควรเริ่มต้นจากจุดไหนดี ?” ในบทความนี้เราได้รวบรวมวิธีการและไอเดียต่าง ๆ ในการทำการตลาดแบบ SEM โดยสามารถนำเสนอแนวทางการเริ่มต้นการทำ SEM ง่าย ๆ 3 ขั้นตอน ดังนี้่
1. เลือกสินค้าหรือบริการที่ต้องการโฆษณา
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าหลาย ๆ แบรนด์โดยเฉพาะแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่หันมาใส่ใจการทำเว็บไซต์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งต่างจากการสร้างเว็บไซต์ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มความน่าเชื่อถือหรือสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์อีกต่อไป แต่ต้องการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อนำมาปรับใช้ในการวางแผนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเห็นว่าลักษณะของเว็บไซต์ของแบรนด์ต่าง ๆ เช่น แบรนด์รองเท้า, แบรนด์โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่บริการสายการบินที่นำเสนอบริการผ่านหน้าเว็บไซต์ให้ลูกค้าสามารถซื้อผ่านเว็บไซต์ได้ทันที ซึ่งการทำแบบนี้นอกจากจะทำให้เราสามารถโฟกัสสิ่งที่ต้องการนำเสนอได้แล้วนั้น ในแง่ของการเลือกใช้คำค้นหามาใช้ในการโฆษณานั้นยังสามารถจำกัดขอบเขตคำค้นหาเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้น
2. ศึกษา Insight ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มเติม
เมื่อเรารู้แล้วว่าต้องการทำ SEM ด้วยสินค้าหรือบริการอะไร ลำดับต่อมาที่เราต้องทำ คือการศึกษา Insight ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อกำหนดคำค้นหาที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงการตัดสินใจ โดยมีแนวทางการกำหนดคำค้นหาง่าย ๆ 2 แนวทาง ได้แก่
คำค้นหาที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาของลูกค้า
กลุ่มคำที่ไม่ได้ระบุเจาะจงไปมายังสินค้าหรือบริการของเราโดยตรง แต่เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเริ่มต้นศึกษาหรือกำลังมองหาสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ลูกค้าพบเจอหรือ Pain Point ของลูกค้าได้ ซึ่งเหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเป็นหลัก เนื่องจากกลุ่มคำค้นหาดังกล่าวมักจะมีปริมาณการค้นหาต่อเดือนที่ค่อยข้างสูงและมีราคาประมูลที่ถูก เช่น หากเราขายสินค้าเกี่ยวกับครีมบำรุงผิว เราอาจจะใช้คำค้นหาคำว่า
สาเหตุผิวหมองคล้ำ
ปัญหาผิวแห้ง
วิธีดูแลผิว
ผิวหมองคล้ำ
เนื่องจากคนที่ค้นหาอาจจะกำลังศึกษาเกี่ยวกับปัญหาผิวหมองคล้ำได้ เป็นต้น
คำค้นหาที่บอกถึงความต้องการของลูกค้า
กลุ่มคำที่ระบุถึงประเภทของสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่จะมีการเพิ่มคำค้นหาบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของลูกค้าอย่างชัดเจน เช่น
บ้านมือสองราคา
รีวิวไอโฟน
เสื้อผ้าผู้ชายขายส่งที่ไหน
ทั้ง 3 คำแสดงให้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านการเช็กราคาของสินค้า, รีวิวต่าง ๆ หรือแม้แต่สถานที่จำหน่ายสินค้านั้น ๆ โดยกลุ่มคำค้นหากลุ่มนี้จะมีปริมาณการค้นหาที่ต่ำและมีราคาในการประมูลที่สูง เนื่องจากกลุ่มคำค้นหานี้เป็นกลุ่มคำที่มีโอกาสทำให้แบรนด์เกิดยอดขายได้มากที่สุด ทำให้มีจำนวนคู่แข่งในตลาดประมูลแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก
หากเราต้องการเช็กปริมาณการค้นหาของคำที่เราต้องการ, ราคาในการประมูลแข่งขัน หรือแม้แต่คำค้นหาอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับคำค้นหาที่เราคิดไว้สำหรับการทำ SEM บน Google เราสามารถใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า “Keyword Planner” บน Google Ads ซึ่งสามารถใช้งานได้ฟรี
3. เตรียมข้อความสำหรับโฆษณา
แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ผู้ค้นหาจะพบเจอคือเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมายที่มี URL เว็บไซต์, หัวข้อของเว็บไซต์ และ คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของเว็บไซต์ ซึ่งส่วนต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถกำหนดเองได้ตามความต้องการของเรา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละเครื่องมือการทำโฆษณาของ Search Engine ต่าง ๆ ว่ามีการกำหนดจำนวนตัวอักษรของแต่ละส่วนไว้เท่าไหร่ แต่หลักการประเมินอันดับในการแสดงผลของการทำ SEM เป็นไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับคุณภาพของเว็บไซต์ หมายความว่าสิ่งที่เราจะต้องใส่ทั้ง “หัวข้อของเว็บไซต์” และ “คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของเว็บไซต์” นั้นต้องสอดคล้องกับคำค้นหาที่เราประมูลและเนื้อหาบนเว็บไซต์ปลายทางหลังคลิกเข้าชมเว็บไซต์ เพื่อให้ระบบของ Search Engine มองว่าโฆษณาที่เรากำลังนำเสนอเป็นสิ่งที่ผู้ค้นหากำลังมองหาจริง ๆ ซึ่งจะทำให้โฆษณาของเรามีโอกาสที่จะติดในอันดับต้น ๆ ของการค้นหานั่นเอง
ข้อกำหนดเกี่ยวกับเนื้อหาในส่วนของ “URL เว็บไซต์”, “หัวข้อของเว็บไซต์” และ “คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของเว็บไซต์” ของ Google นั้นได้มีการระบุจำนวนคำและจำนวนประโยคในส่วนต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
Display path หรือ URL ที่จะแสดงในโฆษณา
สามารถปรับแต่ง URL ของเว็บไซต์ให้เหมาะกับหัวข้อหรือเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอได้ โดยสามารถใส่ได้ 15 ตัวอักษรและ 2 ข้อความ เช่น
Headline หรือ ข้อความของหัวข้อที่แสดงในการโฆษณา
สามารถกำหนดหัวข้อได้สูงสุด 15 หัวข้อ หัวข้อละ 30 ตัวอักษร ซึ่งระบบของ Google Ads จะแนะนำให้ใส่ให้ครบทั้ง 15 หัวข้อเพื่อให้ระบบเลือกหัวข้อที่เหมาะสมกับคำค้นหาที่ประมูล โดยเราสามารถใส่คำค้นหาลงไปในหัวข้อซึ่งจะช่วยให้ระบบโฆษณามองว่าหัวข้อของเว็บไซต์และคำค้นหาที่ลูกค้ากำลังค้นหามีความสอดคล้องกัน
Description หรือ คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของเว็บไซต์
สามารถใส่คำอธิบายได้สูงสุด 4 ข้อความ ข้อความละ 90 ตัวอักษร เพื่ออธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาภายในเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าของเรา ซึ่งระบบของ Google Ads จะแนะนำให้เราใส่ให้ครบ 4 ข้อความเช่นกัน
นอกจากนี้ระบบ Google Ads จะมีการประเมินถึงคุณภาพของโฆษณาของเราเบื้องต้นว่าคำที่เราใช้ในการโฆษณาและคำค้นหาที่เราประมูลมีความสอดคล้องกันหรือไม่ เพื่อให้เราสามารถโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง
ตัวอย่าง SEM คำว่า เอเจนซี่การตลาด
Search Engine Marketing หรือ SEM คือ การทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา หรือ Search Engine ต่าง ๆ เพื่อให้เว็บไซต์ของเราติดอยู่บนหน้าการค้นหาอันดับต้น ๆ ผ่านการ “ซื้อโฆษณา” ด้วยวิธีการประมูลคำค้นหาบนเครื่องมือค้นหานั้น ๆ ซึ่งการทำ SEM ต่างจากการทำ SEO ตรงที่การทำ SEO ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อให้ระบบ Search Engine มองว่าสิ่งที่เรานำเสนอมีความน่าเชื่อถือและตรงตามความต้องการของผู้ค้นหา
โดยในการทำ SEM ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาที่ใช้ในการประมูลคำค้นหาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูคุณภาพของเว็บไซต์ซึ่งดูได้จากเนื้อหาบนเว็บไซต์ต้องสอดคล้องกับคำค้นหาเพื่อให้ระบบมองว่าสิ่งที่เราทำโฆษณาสอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้ากำลังค้นหาซึ่งจะทำให้เว็บไซต์ของเราติดในอันดับต้น ๆ โดยเราสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ได้ 3 ขั้นตอนคือ เลือกสินค้าหรือบริการที่ต้องการโฆษณา, ศึกษา Insight ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มเติม และ เตรียมข้อความสำหรับโฆษณา
การทำการตลาดออนไลน์ SEM คืออะไร เข้าใจคอนเซปต์ก่อนลงมือทำ SEM อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://techwealth99.com/