หน่วยไต (glomerulus) เป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ในเนื้อไต ทำหน้าที่กรองของเสียและน้ำออกมาเป็นปัสสาวะ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นที่หน่วยไต ทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกได้น้อย มีของเสียคั่งอยู่ในเลือดมากกว่าปกติ รวมทั้งมีเม็ดเลือดแดงและสารไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบวม และปัสสาวะออกมาเป็นสีแดง
หน่วยไตอักเสบ เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ในคนทุกวัย อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
สาเหตุ
โรคนี้มักเกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (beta-hemolytic streptococcus group A) เช่น ทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ไฟลามทุ่ง โดยภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นไปมีปฏิกิริยาต่อหน่วยไต ทำให้หน่วยไตเกิดการอักเสบ จัดว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง เรียกว่า หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (poststreptococcal AGN) พบบ่อยในเด็กอายุ 5-10 ปี มักพบหลังติดเชื้อในคอ 1-2 สัปดาห์ และหลังติดเชื้อที่ผิวหนัง 3-4 สัปดาห์ อาจพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคเอสแอลอี ซิฟิลิส การแพ้สารเคมี (เช่น ตะกั่ว) การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์มากเกิน เป็นต้น
อาการ
มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการบวมที่หน้า หนังตา เท้า และท้อง อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือน้ำหมาก และออกเป็นฟอง จำนวนปัสสาวะมักออกน้อยกว่าปกติ
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการปัสสาวะออกน้อยมาก หอบเหนื่อย หรือชัก
ภาวะแทรกซ้อน
ที่อาจพบได้ ได้แก่
มีความดันโลหิตสูงมาก ๆ จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรืออาการทางสมอง (เช่น ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัว)
ภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ใช้เครื่องฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) มีอาการหอบเหนื่อย
หน่วยไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตเนโฟรติก ไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
มักตรวจพบไข้ ความดันโลหิตสูง หน้าบวม หนังตาบวม เท้าบวมกดบุ๋ม ท้องบวม ปัสสาวะขุ่นแดง และตรวจพบสารไข่ขาว (albumin) ขนาด 1+ ถึง 3+
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจปัสสาวะซึ่งจะพบเม็ดเลือดแดงเกาะกันเป็นแพ (red blood cell cast) และพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ หรือเกาะกันเป็นแพ
การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติต่าง ๆ เช่น สารบียูเอ็น (BUN) และครีอะตินีน (creatinine) สูง ซึ่งแสดงว่าไตขับของเสียไม่ได้เต็มที่
บางกรณีแพทย์อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อไต (renal biopsy)
การรักษาโดยแพทย์
1. นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
– ให้ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) และยาลดความดัน
– ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ถ้าเป็นทอนซิลอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน
– หลังจากรักษาจนอาการหายเป็นปกติแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการและตรวจปัสสาวะเป็นระยะ เพื่อเฝ้าดูว่ามีหน่วยไตอักเสบเรื้อรังเกิดตามมาหรือไม่
2. ถ้ามีอาการชักหรือหอบ หรือสงสัยมีภาวะไตวาย (เช่น ปัสสาวะออกน้อย ระดับบียูเอ็นและครีอะตินีนในเลือดสูง) หรือมีความดันโลหิตสูงรุนแรง จำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ทำการตรวจและรักษาภาวะที่พบ เช่น ให้ยาแก้ชัก ยาขับปัสสาวะ ล้างไต เป็นต้น
ผลการรักษา ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนใหญ่จะหายได้เป็นปกติ โดยอาการบวม ปัสสาวะสีแดง และความดันโลหิตสูงจะหายเป็นปกติใน 2-3 สัปดาห์ ส่วนการตรวจปัสสาวะ (ที่นำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ) จะพบสารไข่ขาว และจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติอยู่นาน 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะกลับมาเป็นปกติ
ส่วนน้อย (ราวร้อยละ 2 ของหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส) อาจกลายเป็นโรคหน่วยไตอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจกลายเป็นโรคไตเนโฟรติก และไตวายเรื้อรังตามมา
ข้อมูลสุขภาพ: หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute glomerulonephritis/AGN) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops