สายตาเอียง หมายถึง ภาวะที่แสงจากวัตถุผ่านเข้าสู่ตาไม่รวมเป็นจุดเดียวเช่นคนปกติ แต่แสงในแนวต่าง ๆ เช่น แนวตั้ง แนวนอน แนวทแยงต่างก็แยกกัน รวมกันเป็นจุดในแนวของตัวเอง โดยแนวตั้งก็รวมกันที่จุดหนึ่ง แนวนอนก็รวมกันที่อีกจุดหนึ่ง ซึ่งแต่ละแนวอาจมีจุดรวมแสงตกข้างหน้าจอตา ตรงจอตา หรือหลังจอตาก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากกระจกตามีความโค้งในแนวต่าง ๆ ไม่เท่ากัน จึงทำให้มีการหักเหของแสงต่าง ๆ กันไป ทำให้มองเห็นภาพในแนวต่าง ๆ ชัดไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาว
สายตาเอียงมีอาการมองไม่ชัดที่แตกต่างจากสายตาสั้น หรือสายตายาว กล่าวคือ ผู้ที่มีสายตาสั้น หรือสายตายาว จะมองเห็นตัวอักษรหรือตัวเลขชัดเท่า ๆ กันทุกตัวหรือมัวเท่า ๆ กันทุกตัว แต่ผู้ที่มีสายตาเอียง จะมองเห็นตัวอักษรหรือตัวเลขบางตัวชัด บางตัวไม่ชัด
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์ตา ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด และไม่เป็นมากขึ้นตามอายุ
นอกจากนี้อาจเกิดจากแผลเป็นที่กระจกตา การบาดเจ็บที่ตา หรือการผ่าตัดตา ทำให้ความราบเรียบของกระจกตาเปลี่ยนแปลงไป และทำให้มีการหักเหของแสงในแต่ละแนวแตกต่างกันไป
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการสายตามัว มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน และอาจมีอาการสายตาสั้น (มองไกลไม่ชัด) หรือสายตายาว (มองใกล้ไม่ชัด) ร่วมด้วย ต้องหยีตา หรือเอียงคอเพื่อให้การเห็นดีขึ้น บางรายอาจต้องเพ่งสายตาจนรู้สึกปวดเมื่อยตา ตาล้า ตาเพลีย หรือปวดศีรษะ
ภาวะแทรกซ้อน
มีปัญหาในการอ่านหนังสือ หรือการมองวัตถุที่อยู่ใกล้ และอาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยตาและปวดศีรษะจากการเพ่งมอง
หากเป็นสายตาเอียงเพียงข้างเดียว และปล่อยไว้ไม่รักษา ผู้ป่วยอาจใช้แต่ตาข้างดีข้างเดียว และไม่ใช้ตาข้างที่ผิดปกติ เพื่อให้มองเห็นได้ชัด สายตาข้างที่ผิดปกติจะค่อย ๆ เสื่อมลง จนตาบอดในที่สุด เรียกภาวะนี้ว่า ตาขี้เกียจ (lazy eye หรือ amblyopia)
ข้อมูลสุขภาพ: สายตาเอียง (Astigmatism) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops