ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: มะเร็งเต้านม (Breast cancer)มะเร็งเต้านม พบเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง เริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาว และพบมากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะพบในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี มะเร็งเต้านมพบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีระดับเอสโทรเจนในเลือดสูงเป็นเวลานาน
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างปัจจัยทางกรรมพันธุ์กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มียีนที่เรียกว่า "ยีนมะเร็งเต้านม (breast cancer gene, BRCA)" ซึ่งสามารถถ่ายทอดให้ลูกหลาน ผู้ที่มียีนนี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
พบว่าโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
มีประวัติว่ามารดาหรือพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ถ้ามีญาติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ยิ่งมากคนก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
การมีภาวะหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
การมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือการไม่มีบุตร
การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนนานเกิน 4 ปี
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน
ภาวะอ้วน
การสูบบุหรี่
การดื่มสุราจัด
การได้รับรังสีตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยสาว
อาการ
ระยะแรกมักไม่มีอาการชัดเจน ต่อมาจะมีอาการคลำได้ก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม (จากเดิมที่ปกติ) เต้านมใหญ่ขึ้นหรือรูปทรงผิดปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกจากหัวนม หรือผิวหนังตรงเต้านมมีสีแดงและขรุขระคล้ายผิวส้ม ในระยะท้ายอาจคลำได้ก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้
ภาวะแทรกซ้อน
มะเร็งเต้านมที่เป็นก้อนโตขึ้นอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดทรมาน
ในระยะท้าย มะเร็งมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน อาทิ
ปอด ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ภาวะมีน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอด หายใจลำบาก
ตับ ทำให้เจ็บใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง มีน้ำในท้อง (ท้องมาน)
กระดูก ทำให้ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดหลัง ไขสันหลังถูกกดทับ (ขาชาและเป็นอัมพาต มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (ทำให้เป็นนิ่วไต ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ สมองเสื่อม หมดสติ)
สมอง ทำให้ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก หมดสติ สมองเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammogram) และการผ่าหรือเจาะเอาชิ้นเนื้อเต้านมไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (breast biopsy)
ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง ด้วยการตรวจอัลตราซาวนด์, เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การตรวจสแกนกระดูก, การตรวจเพทสแกน (PET scan) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านม (อาจตัดเต้านมออกบางส่วน หรือตัดออกทั้งหมด) พร้อมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
นอกจากนี้จะให้การรักษาเสริมด้วยรังสีบำบัด เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด (โดยให้กินยาทาม็อกซิเฟน-tamoxifen ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเอสโทรเจน) อิมมูนบำบัด (โดยการให้อินเตอร์เฟอรอน หรือ monoclonal antibody) และ/หรือการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy drug)
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ได้ผลดี ถ้าเป็นระยะแรกมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานหรือหายขาด (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี มากกว่าร้อยละ 95) แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ก็มักจะได้ผลไม่สู้ดี (มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณร้อยละ 20-25)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น คลำได้ก้อนที่เต้านม หรือสังเกตเห็นเต้านมมีลักษณะผิดปกติ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
ขาดยาหรือยาหาย
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มสุราจัด และการใช้เอสโทรเจนเป็นเวลานาน
หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ
ลดการบริโภคเนื้อแดง
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หมั่นเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง (พบว่ามารดาที่ให้บุตรดื่มนมตัวเองนานเกิน 2 ปี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลง)
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจเลือดหา "ยีนมะเร็งเต้านม (breast cancer gene, BRCA)" และผู้ที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาให้กินยาป้องกัน ได้แก่ ยาต้านเอสโทรเจน (เช่น tamoxifen, raloxifene เป็นต้น) หรือในบางกรณีแพทย์อาจป้องกันด้วยการผ่าตัดเต้านมออกไป
ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเอง พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมหรือถ่ายภาพรังสีเต้านม ตามเกณฑ์อายุดังนี้
อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง
อายุ 30-39 ปี ควรพบแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม เพื่อตรวจเต้านมทุก 3 ปี และอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง
อายุระหว่าง 40-44 ปี ควรเริ่มรับการตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม (โดยที่ยังเป็นปกติดี คือ ยังคลำไม่ได้ก้อนที่เต้านมแต่อย่างใด) ด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) เป็นครั้งแรก, อายุ 45-54 ปี ควรตรวจปีละครั้ง และอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว) อาจจำเป็นต้องตรวจถี่กว่าปกติ
2. หากตรวจพบก้อนที่เต้านม ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด ไม่ควรนิ่งนอนใจ ปล่อยปละละเลย หรือกลัวและไม่กล้าไปตรวจกับแพทย์ ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับการเยียวยารักษาให้ได้ผลดีตั้งแต่แรก จริง ๆ แล้วก้อนที่เต้านมไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งเสมอไป แต่เนื่องจากการตรวจคลำด้วยมือไม่อาจแยกว่าเป็นเนื้อดีหรือร้ายได้ จำเป็นต้องให้แพทย์ทำการตรวจเพิ่มเติม
3. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
1. การคลำเต้านมในท่ายืน ใช้ฝ่ามือด้านตรงข้ามคลำตรวจเต้านมทีละข้าง สังเกตดูว่ามีก้อนอะไรดันอยู่หรือสะดุดใต้ฝ่ามือหรือไม่ (มะเร็งของเต้านมมักจะพบที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่น จึงควรสังเกตดูบริเวณนี้ให้ละเอียด)
2. และ 3. การดูเต้านมตรงหน้ากระจกเงา ในท่ามือเท้าเอวและท่าชูมือขึ้นเหนือศีรษะ สังเกตดูลักษณะเต้านมทั้ง 2 ข้างโดยละเอียด เปรียบเทียบดูขนาด รูปร่างของหัวนม และการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทุกส่วนของเต้านม (เช่น รอยนูนขึ้นผิดปกติ รอยบุ๋ม หัวนมบอด ระดับของหัวนมไม่เท่ากัน)
4. การคลำเต้านมในท่านอน ควรใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบัก ให้อกด้านที่จะตรวจแอ่นขึ้น ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
5. (ในท่านอน) ใช้ฝ่ามือข้างซ้ายคลำเต้านมข้างขวาโดยคลำไปรอบ ๆ หัวนมเป็นรูปวงกลม ไล่จากด้านนอกเข้ามายังหัวนม
6. แล้วใช้นิ้วบีบหัวนม สังเกตดูว่ามีน้ำเหลือง หรือเลือดออกจากหัวนมหรือไม่ ให้ทำการตรวจเต้านมข้างขวาโดยใช้มือซ้าย ทำซ้ำข้อ 4, 5, 6