โรคปอดอักเสบในเด็กโรคปอดอักเสบหรือที่เรียกว่า “ปอดบวม” เป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิตผู้ป่วยและเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ในบริเวณเนื้อปอด หลอดลมฝอยส่วนปลาย และถุงลม โดยปกติถุงลมปอดมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ เมื่อมีการอักเสบก็จะทำให้ปอดทำหน้าที่ลดลง และจะส่งผลทำให้เกิดอาการหายใจหอบหายใจลำบาก
สาเหตุและการติดต่อ
เกิดจาการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ติดต่อกันโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่มีอยู่ในอากาศเข้าไป การไอ จามรดกัน การคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยปอดอักเสบ รวมถึงการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักจะเกิดกับผู้พิการ เด็ก ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
อาการและอาการแสดงของโรคปอดอักเสบ
ผู้ป่วยปอดอักเสบมักมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบมักสังเกตพบการหายใจเร็วผิดปกติ ในรายที่มีอาการรุนแรง
องค์การอนามัยโลกกำหนดค่าหายใจเร็วของเด็กที่นับได้ใน 1 นาทีในไว้ดังนี้
- เด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน หายใจเร็วกว่า 60 ครั้ง/นาที
- เด็กอายุ 1 เดือนถึง 1 ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที
- เด็กอายุ 1- 5 ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที
- เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป หายใจเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที
ภาวะที่มีโอกาสเกิดร่วมกับโรคปอดอักเสบ
การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ หากลุกลามเข้ากระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมอง ก็อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การรักษา
โดยประเมินจากความรุนแรงของโรค ปอดอักเสบในรายที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมารับประทานและแนะนำการและสังเกตอาการตนเองต่อที่บ้านรวมทั้งนัดตรวจติดตามอาการซ้ำ โดยผู้ปกครองต้องดูแลให้เด็กให้นอนพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ รวมทั้งทานยาตามแพทย์สั่ง เฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงและอาการแทรกซ้อน หากเด็กมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ไข้สูงลอย อาการหายใจแย่ลง ซึม ขาดน้ำ หรือทานยาแล้ว2วันอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที
คำแนะนำการดูแลผู้ป่วยหลังหายจากโรคปอดอักเสบ
1. หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่คนแออัด เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์
2. จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อากาศที่หนาวเย็นเกินไป
3.ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ
4. แนะนำให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
5. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารประเภทของทอด ขนมกรุบกรอบ น้ำเย็น ไอศกรีม เพราะอาจทำให้เกิดการกระตุ้นให้ไอมากขึ้น
6. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป เนื่องจากร่างกายยังอ่อนแอ ปอดยังทำงานได้ไม่ปกติ
7. แนะนำการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนป้องกันโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD (Invasive Pneumococcal Disease)
คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้การดูแลลูกเพื่อหลีก เลี่ยงการติดเชื้อปอดอักเสบตามที่ได้กล่าวมาคือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่โดยเฉพาะใน 6 เดือนแรก รวมถึงการได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่และอาหารที่มีประโยชน์ การพาลูกน้อยไปรับวัคซีนให้ครบถ้วน การดูแลให้ลูกน้อยอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ สอนลูกให้ล้างมือจนเป็นนิสัย หากลูกไม่สบายหมั่นสังเกตอาการและนำลูกไปพบกุมารแพทย์เมื่อลูกมีอาการไม่ดีขึ้น ย่อมจะนำพาให้ลูกน้อยหลีกไกลจากโรคปอดอักเสบรวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้