บิดชิเกลลา (บิดไม่มีตัว) พบในคนทุกวัย ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-5 ปี มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี หรืออยู่กันอย่างแออัด
การติดเชื้อพบได้บ่อยในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้นของผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยทางจิตเวช
บางครั้งอาจเกิดการระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ค่ายทหาร และมักพบมากในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน
ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนใหญ่เชื้อจะอยู่ในพาหะเพียงช่วงสั้น ๆ มักถูกขับออกหมดภายใน 4 เดือน (แต่บางราย เชื้ออาจอยู่นานถึงหลายปีก็ได้)
ส่วนผู้ป่วยที่แสดงอาการ ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ส่วนน้อยอาจเป็นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ชิเกลลา (Shigella) ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยผ่านทางการสัมผัสมือหรือสิ่งของที่เปื้อนเชื้อ หรือจากการกินอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ (จากมือผู้ป่วยที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดหรือแมลงวันตอม)
นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในหมู่ชายรักร่วมเพศ)
เชื้อชิเกลลาจะเข้าไปในเยื่อบุลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ เกิดอาการท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือด
ระยะฟักตัว 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 24-48 ชั่วโมง)
อาการ
ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน ร่วมกับอาการปวดบิดในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลียเพราะสูญเสียน้ำกับเกลือแร่ ต่อมาอาการถ่ายเป็นน้ำทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้น และถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดแบบกะปริดกะปรอย วันละ 10-30 ครั้ง ไม่มีกลิ่นเหม็น
ในเด็กเล็ก อาจมีไข้สูง ซึม และชักได้ อาการชักจะเป็นอยู่ไม่นาน และไม่มีอันตราย
อาการไข้จะเป็นอยู่ 1-2 วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนอาการถ่ายท้องจะค่อย ๆ ห่างขึ้นภายใน 2-3 วัน และจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก
ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลววันละ 3-5 ครั้ง อาจมีมูกปน แล้วทุเลาไปได้เองภายใน 3-5 วัน ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำ
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบได้บ่อย คือภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
ในรายที่เบ่งถ่ายบ่อยอาจทำให้ทวารหนักโผล่ออกมาข้างนอก
ในทารกแรกเกิดถ้าติดเชื้อจากมารดาขณะคลอด อาจเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือลำไส้ทะลุได้
ผู้ป่วยเอดส์ และเด็กขาดอาหาร อาจมีอาการรุนแรงขั้นโลหิตเป็นพิษ เป็นเรื้อรังหรือกำเริบได้บ่อย
ที่พบได้น้อย เช่น ข้ออักเสบจากปฏิกิริยาของร่ายกาย (reactive arthritis) ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกร่วมกับไตวาย (hemolytic-uremic syndrome) ซึ่งเกิดจากพิษ (shigatoxin) ที่เชื้อปล่อยออกมา นอกจากนี้เชื้ออาจแพร่กระจายทำให้ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
ที่อันตรายแต่พบได้น้อยมาก เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่พอง (toxic megacolon) ลำไส้ทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก มักตรวจพบไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส อาจพบอาการขาดน้ำ หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ) ท้องอาจกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณกลางท้อง ท้องน้อยข้างซ้าย หรือทั่วท้อง บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
ในรายที่ยังวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น นำอุจจาระไปเพาะเชื้อ ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoidoscopy)
การรักษาโดยแพทย์
1. ที่สำคัญคือ ให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ไตรม็อกซาโซล, นอร์ฟล็อกซาซิน, โอฟล็อกซาซิน, ไซโพรฟล็อกซาซิน, อะซิโทรไมซิน (azithromycin) หรือเซฟทริอะโซน (ceftriaxone) เป็นต้น
2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ ถ้าอ่อนเพลียหรือมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อยให้ดื่มน้ำเกลือผสมเอง หรือเตรียมจากผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม
ส่วนยาแก้ท้องเดินไม่จำเป็นต้องให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพราะอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้โรคหายช้าหรือลุกลามได้
3. ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก มีอาการปวดท้องรุนแรง กดเจ็บรุนแรง หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น) จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ) แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่พบ
ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายเป็นปกติได้ใน 5-7 วัน ส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งหากรักษาได้ทันการณ์ก็จะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิตได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย ภายหลังจากมีอาการไข้ร่วมกับถ่ายเป็นน้ำนำมาก่อน หรือมีอาการท้องเดินในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นบิดชิเกลลา ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นบิดชิเกลลา ควรดูแลรักษา ดังนี้
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. กินยาปฏิชีวนะตามขนาดและครบระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
3. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
4. ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
เบื่ออาหาร ดื่มน้ำได้น้อย อาเจียน หรือปวดท้องรุนแรง
ซึม ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบ
ตาเหลืองตัวเหลือง
กินยาที่แพทย์แนะนำ 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
หลังกินยา มีผื่นคัน ตุ่มพุพอง ปากบวม ตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบ ๆ ไม่กินน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
2. กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม
3. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลอง หรือตามพื้นดิน
5. สำหรับชายรักร่วมเพศ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาต
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหาร (เช่น คนครัว บริกร เป็นต้น) ในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานพักฟื้น โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก จำเป็นต้องหยุดงานจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้แพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น
2. อาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ แล้วต่อมาถ่ายเป็นมูกเลือด อาจเกิดจากเชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส ซึ่งพบในผู้ที่กินอาหารทะเล (เช่น หอยนางรม) แบบดิบ ๆ (ดู "โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโรค" เพิ่มเติม)
โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: บิดชิเกลลา (Shigellosis/Bacillary dysentery) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com