พูดคุยเกี่ยวกับวัคซีนของเด็กในยุคโควิด-19 … พาลูกน้อยไปรับวัคซีนจะเสี่ยงติดเชื้อหรือเปล่า? จำเป็นไหมที่จะต้องพาลูกน้อยมารับวัคซีนในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด? วัคซีนชนิดใด เลื่อนได้ เลื่อนไม่ได้บ้าง? วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กมีแล้วหรือยัง? คุณพ่อคุณแม่จะดูแลลูกน้อยอย่างไรในเมื่อลูกน้อยยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด?
วัคซีนชนิดไหนเลื่อนได้ เลื่อนไม่ได้?
สถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจมีความกังวลว่า ลูกจะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อเมื่อต้องออกมารับวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ควรพาลูกน้อยมารับวัคซีนตามปกติ เพราะการเลื่อนรับวัคซีนในช่วงอายุที่เหมาะสม อาจเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งอาจจะทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้! ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนรับวัคซีน สามารถดูคำแนะนำจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ดังนี้
วัคซีนที่ควรมาฉีดตามกำหนด ไม่ควรเลื่อน วัคซีนกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น
วัคซีนสำหรับทารกแรกเกิด ได้แก่
วัคซีนวัณโรค (BCG)
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
เซรุ่มตับอักเสบบี (HBIG)
วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสผู้ติดเชื้อโรค (Post Exposure Prophylaxis) วัคซีนที่ควรฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรค เมื่อเด็กไปสัมผัสโรค หรือสัมผัสกับสัตว์บางชนิด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่
วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies)
วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (dT, Tdap)
วัคซีนอีสุกอีใส (VZV)
วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR)
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
วัคซีนที่เลื่อนได้ประมาณ 1–2 สัปดาห์ วัคซีนในช่วง 1 ปีแรก ป้องกันโรคที่มีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก ได้แก่
วัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP)
วัคซีนโปลิโอ (IPV, OPV)
วัคซีนฮิบ (HIB)
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE)
วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR)
วัคซีนนิวโมคอคคัส หรือไอพีดี (PCV/IPD)
วัคซีนโรต้า (Rota)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu)
วัคซีนที่สามารถเลื่อนได้ 2–4 สัปดาห์ (ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป) ได้แก่
วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP)
วัคซีนโปลิโอ (IPV, OPV)
วัคซีนฮิบ (HIB)
วัคซีนนิวโมคอคคัส หรือไอพีดี (PCV/IPD)
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)
วัคซีนอีสุกอีใส (VZV)
วัคซีนที่สามารถเลื่อนได้มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป หรือรอให้สถานการณ์โควิด-19 สงบ
วัคซีนเอชพีวี (HPV) หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (TDaP) ในช่วงอายุมากกว่า 11 ปี
คุณพ่อคุณแม่สามารถดูคำแนะนำเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนนัดการรับวัคซีน สามารถพิจารณาตามแนวทางของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้!
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้! เนื่องจากเป็นวัคซีนคนละชนิดกัน แต่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันกรณีที่เด็กติดโควิด-19 จะได้ไม่ติดไข้หวัดใหญ่ซ้ำซ้อน (Co-infections) หรือการติดเชื้อร่วมกันซึ่งทำให้มีอาการรุนแรงและการรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
วัคซีน COVID-19 สำหรับเด็กมีหรือยัง?
ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป โดยแนะนำวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งจะมีการกำหนดจำนวนโดสที่ควรได้รับตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดังนี้
เด็กอายุ 5 – 11 ปี ฉีด 2 เข็ม (0.2 ml./โดส) โดยให้เว้นระยะห่างกัน 8 สัปดาห์ (ฝาสีส้ม)
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีด 2 เข็ม (0.3 ml./โดส) โดยให้เว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ (ฝาสีม่วง)
อาการต้องรู้หลังรับวัคซีน อาการแบบไหนเรียกแพ้วัคซีน?
หลังจากที่รับวัคซีนโควิด-19 อาจมีผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้เล็กน้อย ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ปกติ โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
อาการข้างเคียงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกต
อาการแพ้วัคซีน ได้แก่ ผื่นขึ้น หน้าบวม ปากบวม หายใจติดขัด หายใจลำบาก
ผลข้างเคียงชนิดรุนแรง (พบในอัตราที่ต่ำมาก) ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หอบ เหนื่อยง่าย จากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
โอกาสในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อยู่ที่ 16: 1,000,000 เกิดในเพศชาย สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบ NSAID และสเตียรอยด์ (Prednisolone) ซึ่งผู้ที่มีอาการนี้จะหายเป็นปกติเกือบทั้งหมด
หากเด็กๆ มีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ ส่วนใหญ่มักเกิดในช่วง 7-30 วัน
คำแนะนำข้อควรปฏิบัติหลังรับวัคซีน หลังได้รับวัคซีนแล้ว ควรนั่งพักและสังเกตอาการของตนเองอย่างน้อย 30 นาที เหมือนกันกับผู้ใหญ่ โดยมีอาการที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
หอบ
ใจสั่น
เหนื่อยง่าย
หากพบความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ให้รีบพบแพทย์ทันที นอกจากการสังเกตอาการในช่วง 30 นาทีแรกแล้ว ควรติดตามอาการอย่างต่อเนื่องอีก 30 วัน และภายใน 7 วัน หลังจากฉีดวัคซีน ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และความเหนื่อยล้าจากการออกกำลัง อาจทำให้เกิดความกังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนหรือไม่
ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับวัคซีน COVID-19 ในเด็ก
“หากลูกน้อยติดโควิด-19 แล้วเมื่อไรจะฉีดวัคซีนได้”
“ถ้าเราฉีดวัคซีนตัวอื่นมา จะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?”
เด็กๆ ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้หลังจากที่ตรวจพบเชื้อไป 4 สัปดาห์ ในกรณีที่รับวัคซีนอื่นมา หากเป็นวัคซีนทั่วไป ให้เว้นระยะห่างจากวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่หากเป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีด เช่น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันบาดทะยัก สามารถฉีดได้ทันที (ฉีดพร้อม-ก่อน-หลัง วัคซีนโควิดได้)
ดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ห่างไกลจาก COVID-19 ในวันที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
กรณีที่เด็กๆ ยังไม่ได้รับวัคซีน คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลโดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 3 ข้อสำคัญดังนี้
Social Distance รักษาระยะห่าง ไม่ควรพาลูกไปเที่ยวในสถานที่ๆ คนแออัด
Hand hygiene ล้างมือทุกครั้งที่จับสิ่งของ จับประตู กดลิฟต์ โดยล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำกับสบู่
Face Mask ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องออกนอกบ้าน หรืออยู่ในที่ชุมชน เช่น การนั่งรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น
COVID-19 ในเด็ก ลูกน้อยติดโควิดจากไหน?
กลัวว่าลูกจะเป็นโควิด-19 สังเกตอาการได้อย่างไร?
“เนื่องจากในช่วงนี้เด็กติดเชื้อ Covid-19 เพิ่มขึ้นมาก ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้ … หากมีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย ร่วมกับมีไข้สูงมากกว่า 39 องศา หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย”
วัคซีนเด็กในยุค COVID 19 อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19